หน้าหลัก | ประวัติปฏิปทา | ธรรมะคำสอน | ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน | รูปหลวงปู่ | ครูบาอาจารย์ | จดหมาย

“…หลวงปู่ฝั้นนั่งห่างองค์หลวงปู่มั่นประมาณวาหนึ่งต่างหากผินหน้ามาทางองค์หลวงปู่ใหญ่ อยู่ข้างหลังพระอาจารย์กงมา หลวงปู่ฝั้นนั้นท่านนั่งขัดสมาธิภาวนาอยู่นิ่ง ๆ พวกที่เข้าคิวนั่งรอบกายองค์หลวงปู่มั่น ห่างจากกายขององค์หลวงปู่มั่นก็ประมาณฝ่ามือ พระอาจารย์กงมานั่งอยู่ทางขวาขององค์หลวงปู่ที่นอนตะแคงขวานิดหน่อย เพียงไหล่ขององค์หลวงปู่ พระอาจารย์มหาบัวนั่งอยู่เพียงบั้นเอวขององค์หลวงปู่ ข้าพเจ้านั่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของท่านสีหา ครูบาทองคำนั่งอยู่เพียงหัวเข่าขององค์หลวงปู่ ครูบาวันนั่งอยู่เพียงบั้นเอวขึ้นไปหาอกขององค์หลวงปู่ ต่างก็นิ่งจ้องดูลมขององค์ท่านอยู่…..ประมาณสัก ๒๐ นาที องค์ท่านก็สิ้นลมปราณไปเงียบ ๆ ทีนี้อ้ายใจผีบ้าน้ำตากิเลส…..”

เวบไชร์หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถรขอร่วมย้อนรำลึกถึงวันนี้ ( ๑๑ พฤศจิกายน ) เมื่อ ๕๒ ปีที่แล้ว ( พ.ศ. 2492 ) จากบันทึกของท่านเจ้าคุณพระธรรมวิสุทธิมงคล ( หลวงปู่มหาบัว ญาณสัมปันโน ) และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต พิมพ์เผยแพร่ทาง internet โดย คุณปางบุญ ในกระทู้ของ ลานธรรมเสวนา ขอเชิญธรรมทัศนา ณ บัดนี้

ดวงประทีปใกล้สิ้นแสง
"ย้อนมาปรารภองค์หลวงปู่มั่นผู้ชราพาธเพิ่มหนักเข้า ออกพรรษาแล้วครูบาอาจารย์ผู้เป็นหัวหน้าจำพรรษาอยู่ต่างทิศต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ต่างตำบลก็ทยอยกันเข้ามาเฝ้าองค์หลวงปู่ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ต่างก็ออกความเห็นมติตามเจตนาแต่ละองค์ ๒๔๙๒ เดือน พฤศจิกายนนั้นเอง เป็นข้างขึ้นของเดือนนั้น มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ในปัจจุบัน) สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่เขาน้อย ท่าแฉลบ จ.จันทบุรี มีหลวงปู่อ่อน สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านหนองโดก อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีหลวงปู่ฝั้น สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่าธาตุนาเวง ที่เรียกว่าวัดภูธรพิทักษ์ อ.เมือง จ.สกลนคร มีพระอาจารย์กงมาหรือหลวงปู่กงมา สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดดอยธรรมเจดีย์ แต่กำลังเริ่มก่อสร้างอยู่ยังไม่ทันกว้างขวาง ไปบิณฑบาตบ้านนาสีนวล แต่องค์ท่านไป ๆ มา ๆ อยู่วัดป่าบ้านโคก เพราะวัดเดิมอยู่นั้นก็ถูกขึ้นอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีพระอาจารย์กู่ หรือหลวงปู่กู่ก็ว่า จำพรรษาอยู่วัดป่าบ้านโคกมะนาว อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร มีพระอาจารย์มหาทองสุข วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร และสมัยนั้นวัดป่าบ้านหนองผือ องค์หลวงปู่มั่นก็ขึ้นบัญชีพระประจำปีกับวัดสุทธาวาสอยู่ มีพระอาจารย์สีโห สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่นครราชสีมา เป็นวัดใดสงสัยจำไม่ชัด มีพระอาจารย์กว่า สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาบ้านนาหัวช้าง อ.พรรณานิคม จ.สกลนครนั้นเอง ให้เข้าใจว่า พระอาจารย์กู่ก็ดี พระอาจารย์กว่าก็ดี หลวงปู่ฝั้นก็ดี เป็นเครือญาติใกล้ชิดกันในฝ่ายตระกูลวงศ์ แต่พระอาจารย์กู่มีพรรษาเหนือกว่าหลวงปู่ฝั้น ได้สิ้นลมปราณไปหลังหลวงปู่มั่นพรรษาหนึ่งเท่านั้น มีพระอาจารย์วิริยังค์ สมัยนั้นองค์ท่านจำพรรษาอยู่วัดป่า อ.ขลุง จ.จันทบุรี จึงเขียนไว้เป็นที่ระลึก

วัดแตกสาแหรกขาด
เมื่อองค์ท่านพระเถระเหล่านี้ ต่างก็มีศรัทธามารวมกัน ในยามออกพรรษาแล้วที่วัดป่าบ้านหนองผือดังกล่าวแล้วในเรื่องหลวงปู่ องค์ท่านชราพาธเพิ่มทวีขึ้นก็ประชุมปรึกษากัน ส่วนหลวงปู่กงมายืนยันทางเดียวด้วยน้ำใสใจจริงว่าควรนิมนต์หลวงปู่พักวิเวกวัดป่าบ้านม่วงไข่ก่อนซ้ำ ๆ ซาก ๆ อยู่เป็นหลายครั้ง ส่วนองค์หลวงปู่เทสก์ หลวงปู่อ่อน หลวงปู่ฝั้น พระอาจารย์กู่ พระอาจารย์มหาทองสุข พระอาจารย์มหาบัว พระอาจารย์กว่าเหล่านี้ ตามพฤติการไม่ได้จ้ำจี้จ้ำไชกราบเท้าเรียน แล้วแต่องค์หลวงปู่จะสะดวก แต่ก็ไม่ขัดขวางหลวงปู่กงมาแต่ประการใด ๆ อะไรนัก ตกลงองค์หลวงปู่มั่นก็รับไปแบบจำใจ

ตื่นขึ้นเป็นวันใหม่ไปบิณฑบาตแต่เช้า ฉันเสร็จแล้วก็เตรียมตัวโกลาหล แล้วลูกศิษย์ที่ขอนิสัยด้วยประจำวัดหลวงปู่มั่นก็แบ่งออกเป็นสองพวก พวกที่ไปก่อนให้ไปก่อนแต่เฉพาะผู้มีข้อวัตรจำเป็นอันเว้นไม่ได้ซึ่งเกี่ยวกับองค์หลวงปู่ ให้ไปสามองค์ก่อนคือ ๑.ครูบาวัน ๒.ข้าพเจ้า ๓.พระสีหา เท่านั้น ในข้อนี้พระอาจารย์มหาบัวเป็นผู้แต่ง เพราะพระเถระนอกนั้นจำพรรษาอยู่ต่างถิ่น พระอาจารย์มหาบัวและหลวงตาทองอยู่ให้ควบคุมหมู่ผู้อยู่ข้างหลังไปพลางก่อน เพราะการตัดเย็บจีวรก็ยังไม่เสร็จสิ้นเท่าไรนัก เพราะจุก ๆ จิก ๆ กับงานฉุกเฉินหลายด้าน วัดแตกสาแหรกขาด ฝ่ายพระอาจารย์ต่าง ๆ ที่มาต่างทิศก็ยกทัพไปพร้อมกองหน้าหมด เงียบเหงาเย็นเยียบ ออกเดินทางสามโมงเช้าเอาแคร่มาหามหลวงปู่ ทั้งพระทั้งโยมประมาณสองร้อยคน หามไปตามทางเกวียนผ่านบ้านหนองผือไปทางทิศตะวันตกค่อยเดินไปเท้าต่อเท้า แล้วเลี้ยวขวาโค้งตรงไป อ.พรรณานิคม อนิจจาเอ๋ย บ้านหนองผือเศร้าโศกโศกาน้ำตาหลั่งไหล เพราะเอาองค์มิ่งขวัญเขาหนีไกลไปจากถิ่นบ้านเขา สารพัดผู้จะคร่ำครวญรำพันพิไร เสมือนพากันตายไปเงียบไงทั้งบ้าน

พอผ่านบ้านหนองผือไปประมาณสองกิโลเมตร องค์หลวงปู่พูดเย็น ๆ ขึ้นว่า “ พากันหามไปปิ้งไปเผาที่ไหนหนอ” ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ไม่หนีจากคานหามปลายเท้าขององค์หลวงปู่ ปะปนแทรกโยมไปไม่วาง พอได้ยินเสียงองค์หลวงปู่พูดเย็น ๆ และนอนหลับตาปรารภเช่นนั้น อ้ายกิเลสมันสังเวชและโศกขึ้นมา น้ำตาไหลอาบแก้ม โยมตั้งร้อยสองร้อยทั้งพระไม่นึกละอายเลย มีปัญหาว่าครูบาอาจารย์ทั้งหลายและอาจารย์วันและคุณสีหาไปไหนขณะนั้น

ตอบว่า ครูบาวันและคุณสีหาได้กระติกน้ำองค์ละลูกสะพายออกก่อนที่หามแคร่ไปไกลกันกว่า ๑๐ วา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายก็เดินออกหน้าที่หามแคร่ไปไกลกว่านั้นเป็นลำดับ ส่วนตามหลังแคร่ไปก็เป็นระยะ ๆ เป็นทิวแถว ส่วนพวกเกวียนที่ขนของก็ตามหลังบาตรบริขารโยมสะพายเอาหมดแล้ว ข้าพเจ้าจึงแทรกแซงโยมเข้าใกล้ที่หามได้ ข้าพเจ้าไม่ได้หามใส่บ่าหรอก เป็นเพียงเอามือขวาจับชูเอียงตัวซิกแซ็กเดินไป โยมเขาหามเขาเอาผ้าผูกเป็นงวงสะพายบ้างเอามือจับคนละมือบ้างเพราะมากคน บางแห่งก็หย่อนลง บางแห่งก็ยกขึ้นเพราะดินสูงต่ำ ที่ไหนหญ้ารกปกคลุมทางเพียงเข่าและแข้งขาก็เรียบราบไปหมดเพราะคนนั้นเหยียบบ้าง คนนี้เหยียบบ้าง ผู้เขียนมันเจ้ากิเลสมันเป็นเจ้าน้ำตาไปสุดทาง ข้าพเจ้าไม่ได้ใส่รองเท้าเลย เพราะมีความเห็นว่าเข้าใกล้องค์หลวงปู่ไม่สมควร โยมเขาจะใส่ก็ตาม มอบให้เป็นเรื่องของเขา แต่เขาก็ใส่บ้างไม่ใส่บ้างและบางแห่งก็มีหนาม ตาใครตามันรักษาเอาเท้าของตัวที่จะเหยียบไป ได้ทางพอควรก็พักดื่มน้ำ องค์หลวงปู่ดื่มสองสามจิ๊บ แล้วนอนตะแคงข้างขวาอยู่บนแคร่ที่ปลงวางไว้ ประทับจิตประทับใจว้าเหว่เต็มตื้นมาก

พักประมาณสิบหรือสิบห้านาทีโดยคาดคะเนก็เดินทางต่อ พอถึงทุ่งนาแห่งหนึ่ง เป็นหนทางมีตมมีโคลนเลอะเทอะและจวนแจจะมืดค่ำ ไม่มีทางเว้นแต่ที่นาเขา ข้าวเขากำลังจะพอเกี่ยว เขามีศรัทธาไขรั้วรื้อรั้วออกให้ฝ่าเหยียบข้าวไป คนทั้งสองร้อยกว่าฝ่าตะลุยข้าวไปจนสุดทุ่งนาเขาจึงได้ลัดใส่หนทางอันพ้นโคลนตมข้าวก็ล้มไปเรียบราบพร้อมทั้งหล่นพร้อมทั้งขาด นับว่าศรัทธาเขาเกิดขึ้นสด ๆ แก้ปัญหาซึ่งหน้าได้โดยสุจริตใจ จะหาได้ยากในสมัยนี้และเป็นข้าวที่กอโตและเป็นรวงโตเมล็ดโตด้วย การเสียหายอย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่าหกร้อยกิโลกรัม เรียกว่าบุญองค์หลวงปู่เป็นปาฏิหาริย์อยู่ในตัวแล้วจะอัศจรรย์แต่การดำดินบินบนได้จึงจะว่าเก่ง ถ้าอย่างนั้นนกมันก็มีปาฏิหาริย์อยู่ทุกวัน เก่งอยู่ทุกวัน ไส้เดือนก็ดี ปลาไหลก็ดีเป็นต้น มันก็ดำดินอยู่ทุกวันมีปาฏิหาริย์อยู่ทุกวัน เก่งอยู่ทุกวัน แต่ไม่ถือเอาเป็นสรณัง คัจฉามิ เพราะไม่สำคัญในสิ่งเหล่านี้ สำคัญอยู่แต่กิเลสน้อยเบาบางและเหือดแห้งไปเท่านั้น พร้อมทั้งข้อวัตรปฏิบัติอันชอบที่ถูกต้องเท่านั้น คนโดยมากมักตื่นปาฏิหาริย์ทางดำดิน บินบน แต่ผู้เขียนลงเอยมากที่สุดก็คืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ คำสอนของพระองค์เป็นปาฏิหาริย์ที่ไม่จืดจางและมีอยู่ทุกกาลของแต่ละตัวสัตว์ บุคคล เทวดา มาร พรหมด้วย ประจำกองรูปขันธ์ นามขันธ์อยู่ไม่ลบเลือนไปทางใดคือกรรมและผลของกรรม เป็นปาฏิหาริย์อยู่ทุกอิริยาบทของจิตใจอยู่แล้ว ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วอยู่แล้วจะไปหาปาฏิหาริย์ที่ไหนอีก จับไฟก็ร้อน ไม่จับไฟก็ไม่ร้อนเป็นปาฏิหาริย์ทั้งนั้น และก็มีความหมายอันเดียวกันกับกรรมและผลของกรรมคนเชื่อกรรมและผลของกรรมก็คือเชื่อปาฏิหาริย์ ก็คือเชื่อพุทธ ธรรม สงฆ์ด้วยนั้นละ

ปรารภเรื่องหลวงปู่ต่อไป ขณะที่กำลังจะแวะผ่านข้าวเขานั้นพระมหาเถระได้พูดกันว่า “ไม่ควรเอาองค์หลวงปู่ไปพักม่วงไข่ เพราะเป็นวัดร้างมาหลายปี มีต้นไม้ทึบมาก อากาศไม่โปร่งและเดี๋ยวนี้ก็ค่ำแล้วและองค์หลวงปู่เล่าอาการก็หนักเข้า เพราะจะอ่อนเพลียในการหามมาข้ามป่าโคกดงก๊อกแก๊ก ๆ” จึงตกลงแวะบ้านกุดก้อม (ดงภู่ก็ว่า) เป็นวัดป่าพระอาจารย์กู่ พอถึงที่นั่นก็หนึ่งทุ่มกว่าๆ โดยประมาณ อาการหลวงปู่ก็หนักขึ้นทวีมาก ต่อรุ่งเช้าจึงเบาลงบ้าง ในวันนั้นฉันจังหันแล้วมีพระองค์อื่นจะไปตัดช่องกระดานศาลาใกล้ที่พักป่วยขององค์หลวงปู่ถ่ายอาจม องค์หลวงปู่ปรารภดัง ๆ ขึ้นว่า “ อย่ามาทำเลย ท่านหล้าเธอกำกับของเธอประจำอยู่ มาทำแล้ว ก็ไม่ถูกความประสงค์ของเธอดอก” ดังนี้ ข้าพเจ้าได้ยินแล้วอ้ายกิเลสน้ำตามาอีกละ ไหลลงเลยมันไม่ละอายใครเพราะสำเหนียกในใจว่า เราปฏิบัติองค์หลวงปู่มาด้วยประการใด ๆ ตามประสาเราเป็นเวลา ๔ ปีล่วงเข้า หลวงปู่คงไม่หนักธรรมหนักใจว่าเราปฏิบัติเพื่อเอาหน้าเอาตาและไม่สงสัยว่าเราปฏิบัติไม่เคารพและก็ตรงกับเจตนาของเราด้วย องค์หลวงปู่ดักใจทายใจเราถูกได้ไม่ผิด คิดดังนี้ได้กระทันหันอ้ายน้ำตาพลันไหลลงอีก

ห่างจากเรื่องนี้ไปประมาณหนึ่งชั่วโมง จึงละโอกาสไปขอยืมเลื่อยปลาตองและสิ่วมากราบเท้าเรียนองค์หลวงปู่ขอโอกาสทำถวายไม่ให้กระทบกระเทือน เอาไม้หนุนทางใต้ให้ตึง สิ่วเจาะลงพอหลวมปลายเลื่อย เอาเลื่อยเล่มที่คมประมาณห้านาทีก็เสร็จ ส่วนทางใต้นั้นหาภาชนะรองใบโต ๆ แล้วเอาขี้เถ้ารองหนาๆ เวลาไปเก็บสะอาดเอามือกอบใส่อันอื่นไปเทในหลุม แล้วล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำมันก๊าดและขี้เถ้าโดยเร็ว ไม่อดแต่ผู้จะแห่ถือกระบวยให้ เพราะได้เคยเอาเป็นข้อวัตรมาหลายปีแล้ว คราวอยู่หนองผือมีผู้แย่งจะทำ แต่หลวงปู่มหาไม่ให้ทำ เพราะเกรงองค์หลวงปู่มั่นจะไม่พอใจไม่ไว้ใจเพราะเกรงว่าหลวงปู่มั่นจะวิจัยว่าปฏิบัติไม่ถึงพริกถึงขิง ระอาแล้วก็มอบให้องค์อื่น มันเป็นภาพพจน์เหลาะแหละ เว้นไว้แต่เจ็บป่วยนอนคาที่ไปไม่ได้ เมื่อได้พูดก็พูดไปซ้ำซะ

คราวพักรักษาองค์หลวงปู่อยู่วัดป่ากุดก้อม ข้าพเจ้าและครูบาวันไม่ได้ไปบิณฑบาตเลยเพราะคณะพระเถรานุเถระไม่ให้ไปให้รีบเอาบาตรไปตั้งไว้ศาลาฉันเท่านั้น พระสงฆ์กลับมาจากบิณฑบาตจะใส่ให้ และก็ได้ฉันทีหลังหมู่อีกซ้ำ ส่วนครูบาวันนั้นได้ลงไปฉันพร้อมหมู่ เป็นเพียงไม่ได้ไปบิณฑบาต ครูบาวันฉันเสร็จแล้วจึงได้เปลี่ยนข้าพเจ้าลงไปฉัน แต่ก็พอใจอยู่ไม่ห่วงเพราะพ่อของเราปู่ของเรามีคุณค่ากว่าอาหารในท้องเราแต่ละวันแล้ว

ในระหว่างพักอยู่วัดป่ากุดก้อมคือบ้านภู่ หรือว่าดงบ้านภู่ ก็เรียกกันหลายอย่าง มีพระเถระมาเพิ่มขึ้นอีกคือท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ จ.อุดรฯ พระอาจารย์สีลาวัดป่าบ้านวา อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร รวมพระเณรทั้งหมด ๔๐ รูป และมาพักได้ ๓ คืน พระอาจารย์มหาบัวก็ทิ้งบ้านหนองผือมาและหมู่ทั้งหลายก็ทยอยมาจากบ้านหนองผือได้ ๑๑ วัน ครูบาทองคำก็มากับหมู่อีก เหลือแต่หลวงตาทองอยู่องค์เดียว ส่วนองค์หลวงปู่มั่นก็ป่วยหนักเข้า ๆ พักอยู่ที่นั่นได้ ๑๑ คืน ตื่นเช้าชาวสกลนครตลอดถึงคุณหมอ แพทย์ใหญ่ในสกลนครก็มาถึงแต่เช้าตรู่ ชาวสกลนครกราบเท้าเรียนถวายวิงวอนว่า “ขอนิมนต์ให้ไปพักวัดป่าสุทธาวาส” นิมนต์วิงวอนถึง ๓–๔ครั้งติด ๆ กัน

องค์หลวงปู่ปรารภว่า “ เออ หามศพตกป่าช้าหนอ ไม่มีวันได้หามคืน บัดนี้มาถูกเราแล้ว “ องค์หลวงปู่กล่าวต่อไปว่า “ถ้าไปก็ลำบากอีกล่ะ “ เพราะลูกศิษย์ก็มาต่างทิศมากเข้าสี่สิบองค์รวมทั้งเก่าใหม่เขากราบเรียนว่า “มากน้อยเท่าไรก็ตามขอรับ จะเอารถขนวันยังค่ำนั่นแหละ” แท้จริงสมัยนั้นมีรถวิ่งไปมาจากสกลนคร อุดรธานี ๒-๓ คันกับรถกรมทางคันหนึ่งหนทางก็เป็นหินลูกรังปูถี่ ๆ ห่าง ๆ ลัก ๆ ลั่น ๆ ยังไม่เรียบร้อยได้ แล้วก็กราบเท้าเรียนถวายให้องค์หลวงปู่ฉันอาหาร องค์หลวงปู่ก็นั่งฉันได้อยู่ไม่ได้พยุงชู ฉันประมาณห้าหกคำเล็กแห่งอาหารเหลว ๆ ที่ซดด้วยช้อน ครั้นเสร็จแล้วคุณหมอใหญ่ จ.สกลนครก็ฉีดยานอนหลับให้ด้วยการขออนุญาต ๔-๕ ครั้ง องค์หลวงปู่ก็ยอมให้ฉีดแบบฝืน ๆ แล้วก็เตรียมตัวออกเดินทางโกลาหล อ้ายใจกิเลส อ้ายน้ำตากิเลส มันก็ไหลลงอีกละ แล้วเอาแคร่มาหามองค์หลวงปู่ข้ามทุ่ง องค์หลวงปู่นอนตะแคงข้างขวาซ้อนเท้าเหลื่อมกันหามข้ามทุ่งไปสู่ถนน ไกลประมาณเกือบกิโลเมตรจึงถึงถนน แล้วเอาองค์หลวงปู่ขึ้นรถกรมทาง เอานอนด้านหน้าครูบาวัน อาจารย์วิริยังค์ ข้าพเจ้า คุณสีหาก็ไปขบวนกองหน้าส่วนหลวงปู่ก็นอนนิ่งไม่กระดิกพลิกไหวตัวอะไรเลย ปรากฏแต่ลมเข้าออกแบบเบา ๆ

พอถึงวัดป่าสุทธาวาสแล้วก็หามองค์หลวงปู่ขึ้นกุฏิพิเศษหลังหนึ่งอันมีระเบียงรอบทั้งสี่ด้าน มุงกระดานกั้นฝา มีประตูเข้าห้องนอนสองทาง มีหน้าต่างบริบูรณ์ รอบระเบียงนอกมีลูกกรง ห้องนอนนั้นกว้างประมาณ ๓ เมตร ปริมณฑลระเบียงโดยรอบสามด้านนั้นกว้างประมาณ ๒.๕๐ เมตร ส่วนด้านหน้านั้นกว้างประมาณ ๔ เมตร หรือ ๕ เมตรนี่แหละ เพราะเป็นกุฏิ ๒ ห้อง แล้วก็มีระเบียงรอบสี่ด้าน แล้วกั้นห้องหนึ่งเป็นห้องนอน แล้วครูบาอาจารย์ต่างทิศก็แตกตื่นกันมาเป็นระยะ ๆ องค์หลวงปู่สิงห์โคราช หลวงปู่บุญหลาย หลวงปู่สาร พระอาจารย์เกิ่ง พระอาจารย์สิม ตลอดพระหนุ่มเณรน้อยฝ่ายปฏิบัติหลั่งไหลเข้ามาเป็นลำดับ ไม่สามารถจะบอกชื่อลือนามได้

"ใจใดเห็นภัยในรสใจอันเดือดร้อน ใจนั้นจะรู้จักการลดผ่อนในเรื่องร้อนของใจ ใจใดไม่รู้จักรสของใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักรสของธรรม ใจใดไม่รู้จักทางใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักทางธรรม ใจใดไม่รู้จักพึ่งใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักพึ่งธรรม ใจใดไม่รู้จักเหตุแห่งใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักเหตุแห่งธรรม ใจใดไม่รู้จักดับเหตุแห่งใจ ใจนั้นไม่รู้จักดับเหตุแห่งธรรม ใจใดไม่รู้จักหลุดพ้น ใจนั้นก็ไม่รู้จักธรรมอันหลุดพ้น ใจใดไม่เคารพใจ ใจนั้นก็ไม่เคารพธรรม ใจใดไม่รู้จักใจที่ควรปฏิบัติเคารพ ใจนั้นก็ไม่รู้จักธรรมที่ควรปฏิบัติเคารพ ใจใดที่ไม่รู้จักสรรพใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักสรรพธรรม ใจใดไม่รู้จักเอกใจในปัจจุบัน ใจนั้นก็ไม่รู้จักเอกธรรมในปัจจุบัน นิจจาเอ๋ย อนิจจาเอ๋ย"

สิ้นแล้วร่มโพธิ์แก้ว
แล้วก็เอาองค์หลวงปู่เข้าห้องนอนตะแคงขวา…พอตกเวลาหกโมงเย็น หลวงปู่กงมาบอกว่า “ท่านทองคำ ท่านหล้า ท่านสีหาพากันบอบโบยหิวนอนมานานแล้วจงพากันรีบนอนอยู่บนระเบียงนี้แต่หัวค่ำเสีย พระอาจารย์ฝั้นกับผมจะช่วยเฝ้าในห้ององค์หลวงปู่ ส่วนท่านวันเข้าพักกุฏิหนึ่งกับวิริยังค์กับท่านเนตรแล้ว ส่วนท่านมหาบัวพักรุกขมูลร่มไม้ในวัด เธอเร่งความเพียร เกรงหลวงปู่จะสิ้นลมก่อน “ พอจบคำแล้วต่างก็ปูผ้าลงกระดานพื้นระเบียง กราบพระองค์ละ ๓ ที คว้าเอาห่อผ้าสังฆาฏิมาหนุนหัวกำหนดลมหายใจเข้าออกไป ตาใสแจ๋วไม่หลับเพราะมันเคยชินในการไม่หลับมานานบ้างแล้ว อาหารฉันหมดวันละเท่าไข่เป็ดก็ทั้งยาก จืดชืดไปหมดอายุขั้นสามสิบกว่า ๆ อนิจจาเอ๋ย

ประมาณตีหนึ่งกว่า ๆ หลวงปู่กงมา มาดึงแขนกระซิบบอกว่า “พากันลุก พากันลุก พระอาจารย์ใหญ่ใกล้จะสิ้นลมแล้ว” กระซิบตอบองค์ท่านว่า “ขาน้อยยังไม่หลับดอก” แล้วองค์ท่านบอกให้รีบด่วนไปนิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ พระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์เทสก์ พระอาจารย์มหาและครูบาวัน ข้าพเจ้ารีบไปกุฏิท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก่อน ไปถึงแล้วกล่าวว่า “ขอกราบเท้าเรียนถวายพระเดชพระคุณ องค์หลวงปู่หนักมาก เออ.. ๆ ข้าจะไปเดี๋ยวนี้” แล้วไปปลุกพระอาจารย์สิงห์ พระอาจารย์เทสก์ “ ขอโอกาสพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ องค์พระอาจารย์ใหญ่หนักเต็มทน เออเราก็ไม่ค่อยหลับสนิทดอก” แล้วไปปลุกพระอาจารย์มหาบัว พอเดินไปที่ใกล้ใต้ร่มไม้ องค์ท่านถามก่อนแล้วว่า “ใคร ๆ “ ตอบว่า “กระผม พระอาจารย์ใหญ่เป็นมาก” แล้วผ่านไปหาอาจารย์วัน พระสีหาไปบอกก่อนท่านไปแล้ว แล้วก็รีบขึ้นไปเกรงไม่ทันเห็นใจหลวงปู่ แล้วท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ปรารภว่า “พวกเราต้องอยู่ระเบียงนอกห้อง ปล่อยให้ลูกศิษย์องค์ท่านผู้โชกโชนปฏิบัติมีสิทธิ์ปลงธรรมสังเวชอาจารย์ใหญ่เพราะห้องก็แคบ ถ้าพวกเราชิงเข้าไปก็ไม่เป็นธรรม “ ตกลงอยู่ในห้องคอยจ้องดูลมออกเข้าของหลวงปู่ ๖ องค์ ๗ กับหลวงปู่ฝั้น

หลวงปู่ฝั้นนั่งห่างองค์หลวงปู่มั่นประมาณวาหนึ่งต่างหากผินหน้ามาทางองค์หลวงปู่ใหญ่ อยู่ข้างหลังพระอาจารย์กงมา หลวงปู่ฝั้นนั้นท่านนั่งขัดสมาธิภาวนาอยู่นิ่ง ๆ พวกที่เข้าคิวนั่งรอบกายองค์หลวงปู่มั่น ห่างจากกายขององค์หลวงปู่มั่นก็ประมาณฝ่ามือ พระอาจารย์กงมานั่งอยู่ทางขวาขององค์หลวงปู่ที่นอนตะแคงขวานิดหน่อย เพียงไหล่ขององค์หลวงปู่ พระอาจารย์มหาบัวนั่งอยู่เพียงบั้นเอวขององค์หลวงปู่ ข้าพเจ้านั่งอยู่ใต้ฝ่าเท้าของท่านสีหา ครูบาทองคำนั่งอยู่เพียงหัวเข่าขององค์หลวงปู่ ครูบาวันนั่งอยู่เพียงบั้นเอวขึ้นไปหาอกขององค์หลวงปู่ ต่างก็นิ่งจ้องดูลมขององค์ท่านอยู่…..ประมาณสัก ๒๐ นาที องค์ท่านก็สิ้นลมปราณไปเงียบ ๆ ทีนี้อ้ายใจผีบ้าน้ำตากิเลสมันก็ไหลออกมาตามอำเภอใจมันอีก คงจะเป็นเวลาตี 2 กว่า ที่ทางในเมืองเขาได้รับข่าว เขาก็มาถึงประมาณตีสามกว่า ๆ ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ก็เลยบอกว่า “พวกพระเราออกจากห้องปล่อยให้ญาติโยมเขาปลงธรรมสังเวชชมดูศพพระอาจารย์บ้าง “ ข้าพเจ้าลงล้าหลัง เห็นนาฬิกาอยู่ใกล้องค์หลวงปู่เป็นนาฬิกาขององค์หลวงปู่ คิดขึ้นได้รวดเร็ว ว่าถ้านาฬิกาอันนี้หายก็จะเป็นปัญหาอีกเพราะเราลงหนีทีหลัง นึกแล้วก็เอาไว้ใส่ย่ามแต่ยกมือขึ้นใส่หัวเสียก่อน แล้วก็รีบเอาไปถวายพระอาจารย์สิงห์ หลวงปู่สิงห์ก็เรียก ว่าแล้วองค์ท่านก็เก็บไว้ อา…ปรารภผ่านไป พอองค์ท่านสิ้นลมปราณก็ขอโอกาสพระอาจารย์มหาแล้วยกมือใส่หัวอีก เอามือสองมือชูคางขององค์หลวงปู่ไว้ให้สนิท ชูไว้ประมาณสองสามนาทีก็เลยจับสนิทเพราะเกรงว่าเมื่อเย็นแล้วตัวแข็งแล้วจะไม่สนิทเข้า

มีปัญหาว่า ไฉนจึงเขียนเรื่องก๊อก ๆ แก๊ก ๆ แท้ จะเอาไปพระนิพพานด้วยดอกหรือ หลับตาตอบว่าเรื่องของเจ้าตัวที่ได้ผ่านทุกข์มาในสงสารปัจจุบันชาติ พระบรมศาสดาและพระอริยสาวกที่ทรงปุพเพนิวาสยิ่งระลึกได้ว่าเราหาประมาณมิได้ เราเพียงแค่นี้จะประสาอะไรกัน เท่าน้ำลายขององค์ท่านบ้วนทิ้งก็ไม่ได้ คราวบ้าเขียนก็ต้องยอมไปตามบ้าก่อน เมื่อเห็นโทษในบ้าก็จะหายจากบ้าดอกและก็ได้คำนึงว่าเป็นยุคสำคัญของผู้เขียนในชาตินี้ด้วย คงจะดีกว่าเขียนกลอนเพลงกลอนลำทางโลกสงสารโต้ง ๆ ถ้าไม่เป็นคติแก่ท่านผู้อ่านแก่ท่านผู้ฟังแล้ว เป็นคติแก่ตนเองก็เอา เห็นว่าไม่ขาดทุนสูญกำไรไปไหน เพราะจิตใจยังหนักแน่นใน พุทธ ธรรม สงฆ์ อยู่ไม่สงสัยลังเล เมื่อปรารภมากก็รู้จักว่าปรารภมาก เมื่อปรารภน้อยก็รู้จักว่าปรารภน้อย แล้วหัดมิให้ติดอยู่ในเงื่อนทั้งสองก็ต้องเป็นภาวนาวิปัสสนาอยู่ในตัวแล้ว ต้องขึ้นอยู่กับสติปัญญาเป็นเก็ณฑ์กันอยู่ดี ๆ นี้เอง รู้มากยากนานรู้น้อยพลอยรำคาญจะเอาเป็นประมาณไม่ได้เพราะกลอนพาไป พระองค์เจ้ารู้มากมิได้เห็นยาก นาน พระอริยสาวก พระอริยสาวิกาก็เหมือนกัน เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานไปก่อนท่านผู้อ่านท่านผู้ฟังไปก่อนแล้วแต่ปางไหน ๆ

ใจใดเห็นภัยในรสใจอันเดือดร้อน ใจนั้นจะรู้จักการลดผ่อนในเรื่องร้อนของใจ ใจใดไม่รู้จักรสของใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักรสของธรรม ใจใดไม่รู้จักทางใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักทางธรรม ใจใดไม่รู้จักพึ่งใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักพึ่งธรรม ใจใดไม่รู้จักเหตุแห่งใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักเหตุแห่งธรรม ใจใดไม่รู้จักดับเหตุแห่งใจ ใจนั้นไม่รู้จักดับเหตุแห่งธรรม ใจใดไม่รู้จักหลุดพ้น ใจนั้นก็ไม่รู้จักธรรมอันหลุดพ้น ใจใดไม่เคารพใจ ใจนั้นก็ไม่เคารพธรรม ใจใดไม่รู้จักใจที่ควรปฏิบัติเคารพ ใจนั้นก็ไม่รู้จักธรรมที่ควรปฏิบัติเคารพ ใจใดที่ไม่รู้จักสรรพใจ ใจนั้นก็ไม่รู้จักสรรพธรรม ใจใดไม่รู้จักเอกใจในปัจจุบัน ใจนั้นก็ไม่รู้จักเอกธรรมในปัจจุบัน นิจจาเอ๋ย อนิจจาเอ๋ย ต่อไปเรื่องศพขององค์หลวงปู่ ครั้นถึงเวลาเย็นในวันนั้น ก็กราบศพเอาเข้าหีบไม้ที่เห็นว่าเป็นหีบชั้นที่หนึ่งในสมัยนั้น แล้วก็เอาไว้ที่ศาลาโรงฉัน แล้วสามทุ่มตอนกลางคืนมีการสวดมนต์ ธรรมจักรบ้าง อนัตตลักขณสูตรบ้าง อาทิตตปริยายสูตรบ้าง ธรรมนิยามบ้าง อภิธรรมบ้าง วนไปวนมาและมีการฟังเทศน์ทั้งโยมทั้งพระรวมกันตอนกลางคืนด้วยทุกคืน ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์เป็นประธานแต่งพระเถระทั้งหลายเปลี่ยนวาระกันเทศน์เข้าคิว สมัยนั้นพระอาจารย์มหายังมิได้เข้าคิวเทศน์ดอก องค์ท่านกำลังเร่งความเพียร ออกไปวิเวกองค์เดียว ๗ วัน จึงเข้ามาเยือนหนหนึ่งเป็นระยะ ๆ พระมาต่างทิศบางวันถึง ๘๐๐ ก็มี บางวัน ๔๐๐ ขึ้นไป ๕๐๐ ๖๐๐ ๗๐๐ อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า ๔๐๐ ตลอด ๓ เดือนการขบฉันก็เหลือแหล่ ไม่มีโจรผู้ร้ายพอที่จะว่าเดือดร้อน ๗ วันที่เรียกว่าสัตตมวารในสมัยนั้นทำบุญครั้งหนึ่ง แต่ก็เท่ากับว่าทำทุกวันอยู่ในตัวเพราะพระมาก ถ้าคิดเฉลี่ยแล้วเอา ๖๐๐ มาคูณ ๙๐ แล้วจะเป็นพระกี่องค์เล่า ก็เป็นพระ ๕๔,๐๐๐. องค์ทีเดียวล่ะ พระมหาเถระ พระราชาคณะทางกรุงเทพฯมหานครก็มาหลายองค์อยู่ สมัยนั้นวัดป่าสุทธาวาสเป็นวัดกว้างขวางวังเวงเพราะยังไม่มีสวน ไม่มีบ้านท่านผู้ใด เป็นดงบ้าง เป็นป่าบ้าง กางกลดกางมุ้งอยู่ไหน ๆ ก็ได้ไม่คับแคบ ให้เข้าใจว่าองค์หลวงปู่มั่นสิ้นลมปราณล่วงไป ๓๐ ปีกว่าเท่านั้น บ้านเมืองงอกมาหาวัดจนกลายเป็นวัดในเมืองไปแล้ว ครั้งพุทธกาลล่วงมา ๒๕๒๔ ปีแล้ว วัดเชตวัน วัดบุพพาราม วัดเวฬุวัน วัดนิโครธาราม กุฎาคารป่ามหาวัน เหล่านี้เป็นต้น ครั้งพุทธกาลเป็นวัดป่าเป็นส่วนมากทั้งนั้น มิหนำซ้ำที่ประสูติ ตรัสรู้ ที่ทรงแสดงธรรมจักร ที่ปรินิพพานเหล่านี้เป็นต้นย่อมเป็นป่าเต็มภูมิทั้งนั้น เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาเกี่ยวกับป่า ๆ ดง ๆ ภู ๆ เขา ๆ ตลอดพระวินัยอนุศาสน์และพระสูตรต่าง ๆ ในแทบทุกสูตรที่เกี่ยวกับป่า ถ้าพวกเราจะรังเกียจวัดป่าวัดภู ในพระไตรปิฎกเรื่องพระเมฆิยะเขาก็สร้างวัดบนหลังภูเขา ถวายพระครั้งพุทธกาลก็หลาย ๆ แห่ง ถ้าหากว่าพวกเราตัดป่าตัดภูเขาออกแล้วพระไตรปิฎกก็ไม่ครบ เราวิ่งไปหน้าเดียวไม่มองคืนหลังเสียเลยก็จะเลยเถิดแผนที่ ถ้าเขียนผิดก็ขออภัยแก่ท่านผู้รู้ทุกถ้วนหน้าและขอรับฟังพิจารณาคำตักเตือนโดยเคารพด้วยอยู่โดยทุกเมื่อ เพราะหวังดี ผูกขาดแล้ว

ฯ ล ฯ

ผู้สนใจอ่านต่อได้ในหนังสือ ชีวประวัติ พระหล้า เขมปัตโต วัดภูจ้อก้อ จังหวัดมุกดาหาร

ต่อไปคัดมาจากหนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ โดยท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน

“พอถึงเวลาถวายเพลิงท่านจริง ขณะนั้นปรากฏมีเมฆก้อนหนึ่งขนาดย่อม ๆ ไหลผ่านเข้ามาและโปรยละอองฝนลงมาเพียงเบา ๆ พร้อมกับขณะที่ไฟเริ่มแสดงเปลวและโปรยอยู่ประมาณ ๑๕ นาที เมฆก็ค่อย ๆ จางหายไปในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงพระจันทร์ข้างขึ้น จึงเป็นที่น่าประหลาดและอัศจรรย์ อย่างสุดจะคาดจะเดาได้ถูก ว่าทำไมจึงดลบันดาลให้เห็นเป็นความแปลกหูแปลกตาขึ้นมาในท่ามกลางแห่งความสว่างแห่งแสงเดือนเช่นนั้น เพราะปกติฟ้าก็แจ้งขาวดาวสว่างในฤดูแล้งธรรมดาเราดี ๆ นี่เอง แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ มีเมฆลอยมาและมีละอองฝนโปรยปรายลงมา ทำให้แปลกตาสะดุดใจระลึกไว้ไม่ลืมจนบัดนี้ เหตุการณ์ทั้งนี้บรรดาท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้น ไม่มีใครกล้าปฏิเสธได้ว่าไม่จริง เรื่องมิได้เป็นไปในทำนองนั้น เป็นแต่ผู้เขียนอุตริขึ้นมาเอง เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ผู้เขียนประสบมาเองอย่างประจักษ์ตาและสะดุดใจตลอดมา พอท่านที่อยู่ในวงงานขณะนั้นได้อ่านตอนนี้ อย่างไรต้องเพิ่มความจำ และความสะดุดใจขึ้นมาในทันทีว่า เหตุการณ์ได้เป็นอย่างนั้นจริง ๆ

การถวายเพลิง ไม่ได้ถวายด้วยฟืนหรือถ่านดังที่เคยทำกันมา แต่ถวายด้วยไม้จันทน์ที่มีกลิ่นหอม ซึ่งบรรดาศิษย์ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่านสั่งมาจากฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศลาวเป็นพิเศษจนเพียงพอกับความต้องการและผสมด้วยธูปหอมเป็นเชื้อเพลิงตลอดสาย ผลเป็นความเรียบร้อยเช่นเดียวกับที่เผาด้วยฟืนหรือถ่าน นับแต่เริ่มถวายเพลิงท่าน ได้มีกรรมการทั้งพระและฆราวาสคอยดูแลกิจการอยู่เป็นประจำตลอดงานนั้น และมีการรักษาอยู่ตลอดไป จนถึงเวลาเก็บอัฐิท่าน

ฯ ล ฯ
มือประนมก้มราบลงกราบพระ
พร้อมตั้งจิตคิดอธิษฐานให้
วันสุดท้ายที่สุดท้ายต้องตายไป
ขอน้อมใจ แนบบาทสู้…สู่นิพพาน
go to top