รวมภาพถ่าย (คลิ๊กที่รูปเพื่อชมภาพใหญ่)

หลวงปู่มั่น 1
หลวงปู่มั่น 3
หลวงปู่มั่น 2
ภาพที่ 1
ภาพที่ 2
ภาพที่ 3
หลวงปู่มั่น 4
หลวงปู่มั่น 5
หลวงปู่มั่น 6
ภาพที่ 4
ภาพที่ 5
ภาพที่ 6
หลวงปู่มั่น 7
หลวงปู่มั่น 8
หลวงปู่มั่น รูปที่9
ภาพที่ 7
ภาพที่ 8
ภาพที่ 9
หลวงปู่มั่น 9
ภาพที่ 10

ภาพถ่าย หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร
โดย ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร (http://www.luangpumun.org)
รวบรวมเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555
แก้ไขล่าสุด วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2562

พระเดชพระคุณหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงการถ่ายภาพหลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ไว้ใน "ประวัติท่านพระอาจารย์ ภูริทัตตเถระ" (2549) ดังนี้

"... ท่านยินดีรับอาราธนาคณะศรัทธาทั้งหลายต่างมีความยินดีพร้อมกันเอารถมารับท่านไปที่จังหวัดสกลนคร ในปลายปี พ.ศ. 2484 ท่านไปพักวัดสุทธาวาส สกลนคร ขณะที่ท่านพักอยู่มีประชาชนพระเณรพากันมากราบเยี่ยมและฟังโอวาทท่านมิได้ขาด ท่านพักที่วัดสุทธาวาสครั้งนั้น มีผู้มาขอถ่ายภาพท่านไว้กราบไหว้บูชา ท่านอนุญาตให้ถ่ายภาพท่านคราวมาพักนครราชสีมาครั้งหนึ่ง คราวมาพักที่สกลนครครั้งหนึ่ง ที่บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม คราวกลับจากงานฌาปนกิจศพท่านพระอาจารย์เสาร์ครั้งหนึ่ง ..."

"... ที่ท่านผู้เคารพเลื่อมใสในท่านได้รับแจกไว้สักการบูชาทุกวันนี้ ก็เนื่องมาจากที่ท่านอนุญาตให้ถ่ายสามวาระนั่นแล ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีอะไรปรากฏเป็นพยานแห่งความเลื่อมใสในทางรูปกายท่านบ้างเลย เพราะปกติท่านไม่ชอบให้ถ่ายอย่างง่ายๆ กว่าจะอนุญาตให้ใครแต่ละครั้ง ผู้นั้นต้องรู้สึกอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย ต้องนั่งถอยเข้าถอยออก และเปลี่ยนท่าเปลี่ยนทีอยู่หลายครั้ง จนเหงื่อแตกโชกไปทั้งตัวโดยไม่รู้สึก เพราะเคยทราบมาแล้วว่า ท่านไม่ค่อยอนุญาตให้ใครถ่ายเลย ดีไม่ดีถ้าเข้าไม่สบโอกาสอาจโดนดุก็ได้ จึงต้องกลัวกันทุกราย ..." (ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน, 2549: 234-235)

ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ขออนุญาตนำเสนอความเป็นมาของแต่ละภาพถ่ายของหลวงปู่มั่น เท่าที่จะสามารถรวบรวมทั้งภาพ และเรื่องราวได้ โดย ผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ สามารถรวบรวมได้ 10 ภาพ โดยมีรายละเอียดเท่าที่สามารถรวบรวมได้ ดังนี้

หลวงปู่มั่น 1
หลวงปู่มั่น 2

ภาพที่ 1-2 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ แต่จากการสังเกตองค์ประกอบของภาพ ได้แก่ ลักษณะของธรรมาสน์ พรมปูนั่ง รอยพับของผ้าจีวร สังฆาฏิ และทิวทัศน์ด้านหลังขององค์หลวงปู่มั่น จะเห็นว่าทั้งสองภาพมีองค์ประกอบของภาพที่คล้ายกัน แต่มุมมองการถ่ายต่างกัน จึงอาจคาดคะเนได้ว่า ทั้งสองภาพน่าจะถ่ายในสถานที่เดียวกัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกัน

หลวงปู่มั่น 3

ภาพที่ 3 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ ภาพนี้ผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ ถ่ายจากภาพที่ผนึกบนหนังสือสุทธิประจำองค์หลวงปู่มั่น ที่จัดแสดงอยู่ที่ "พิพิธภัณฑ์บริขาร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

หนังสือสุทธิ หลวงปู่มั่น
หนังสือสุทธิประจำองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร

ปัจจุบันภาพถ่ายต้นฉบับซึ่งผนึกในหนังสือสุทธิประจำองค์หลวงปู่มั่นนี้ ยังจัดแสดงอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์บริขาร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร (ดังภาพ)

หลวงปู่มั่น 4

ภาพที่ 4 ถ่ายจากภาพถ่ายต้นฉบับที่เก็บรักษาไว้โดย ดร.นระ คมนามูล บุตรชายของ คุณวัน คมนามูล ซึ่งจากการค้นคว้าโดย ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร (2549) พบว่าภาพถ่ายนี้ถ่ายในวันจันทร์ที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๓ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๗ ณ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา (ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร ในบทความ "บันทึกประวัติศาสตร์ พระบูรพาจารย์", http://luangpumun.org/picdrnara/con1.htm)

หลวงปู่มั่น 5

ภาพที่ 5 ภาพนี้ผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ ได้ถ่ายจากภาพเก่าที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เก็บรักษาไว้ กล่าวกันว่าเป็นภาพถ่ายที่วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

จากการศึกษาโดย วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (2553) ได้กล่าวถึงภาพนี้ว่า ท่านหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้เขียนไว้ใน ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตะเถระ ไว้ว่า ปลายปี พ.ศ. 2484 คณะศรัทธาชาวสกลนครอาราธนาหลวงปู่มั่น จากวัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ไปพำนักที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร มีผู้มาขอถ่ายภาพท่านไว้กราบไหว้บูชา ท่านได้อนุญาตให้ถ่ายภาพ(วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, 2553: 150)

พระพุทธรูปางป่าเลไลย์ วัดป่าสุทธาวาส
พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์และเขามอ
ซึ่งเคยอยู่ในบริเวณวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร
ภาพถ่ายเก่าของวัดที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514

ถ้าหากสังเกตที่ด้านหลังองค์หลวงปู่มั่น จะเห็นเป็นองค์พระพุทธรูปปางป่าเลไลย์ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาสรูปปัจจุบัน (ท่านเจ้าคุณพระราชวิสุทธินายก) ได้ให้ข้อมูลว่า เป็นพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์และเขามอ ซึ่งเคยประดิษฐานอยู่ในบริเวณวัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ภาพถ่ายเก่าของวัดที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 (ดังภาพ) ต่อมาเขามอและพระพุทธรูปปางป่าเลไลย์นี้ ได้ชำรุดทรุดโทรมลง จนยากต่อการบูรณะ จึงได้รื้อลงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2520

หลวงปู่มั่น 6
หลวงปู่มั่น 7

ภาพที่ 6-7 ทั้งสองภาพนี้น่าจะถ่ายในสถานที่เดียวกัน และช่วงเวลาใกล้เคียงกัน อีกทั้งจากการศึกษาของ วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง (2553) ว่าทั้งสองภาพ น่าจะเป็นภาพถ่ายที่บ้านฝั่งแดง นครพนม ในปี พ.ศ. 2486 (วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง ,2553:151) พระเดชพระคุณหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงการถ่ายภาพในครั้งนั้นไว้ใน เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2549 "ฤทธิ์คำสัตย์คำจริง"

"... ไปถ่ายรูปที่บ้านฝั่งแดงนั้นแห่งหนึ่งที่มีต้นค้อ ท่านยืนพาดสังฆาฏิ ท่านสงเคราะห์ลูกศิษย์ท่าน ชื่อโยมทองอยู่ นครพนม เขาอยู่พระธาตุพนม เขามาจังหันที่นั่นกับลูกๆ เขา เพราะเขาเป็นลูกศิษย์เก่าแก่ ท่านมาพักที่บ้านฝั่งแดงกับเรา เราไปรอรับท่าน แล้วไปนิมนต์ท่านมาจากวัดเกาะแก้วนั่น..."

"... ทีนี้พวกโยมทองอยู่เขาเป็นลูกศิษย์เก่าของท่าน เขาก็มาจังหันตอนเช้า พอเสร็จเรียบร้อยแล้วเขาก็ขอถ่ายรูปท่าน ท่านอนุโลมลูกศิษย์เก่าของท่านนะ ที่ไม้ค้อ ท่านยืนถ่ายพาดผ้าสังฆาฏิอะไรนี้ เราอยู่ที่นั่น นั่นละท่านถ่ายนั้นหนหนึ่ง ท่านอนุโลมให้ลูกศิษย์เก่าท่าน ให้ท่าขัดสมาธิหรือท่ายืนพาดสังฆา ท่านทำให้ทั้งนั้นนะ จากนั้นไม่ค่อยได้มีใครมาถ่ายท่านง่ายๆ นะ เราจำได้เท่านั้น..."

(อ่านกัณฑ์เทศน์ฉบับเต็ม คลิ๊กที่นี่)

หนังสือหลวงปู่เสาร์
หนังสือเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง
พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) พระครูวิโรจน์ (นนฺตโร รอด)
และในงานฌาปนกิจศพ พระมหารัฐ รฏฺฐปาโล กับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล

ระบุช่วงเวลาการฌาปนกิจศพ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล
(ภาพจาก ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

ในช่วงเวลาที่หลวงปู่มั่น ได้ไปพำนัก ณ บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในช่วงเวลาที่ถ่ายรูปนั้น เป็นช่วงเวลาภายหลังจากที่ท่านได้เดินทางกลับจากไปร่วมงานฌาปนกิจศพ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน, 2549: 234-235) ณ วัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2486 (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์, 2486: 6)

บ้านฝั่งแดง
บ้านฝั่งแดง ตำบลฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดสกลนคร
(ถ่ายโดย ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร
วันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)

ดังนั้นภาพที่ 6-7 ทั้งสองภาพจึงน่าจะถ่ายที่บ้านฝั่งแดง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในช่วงเวลาประมาณปี พ.ศ. 2486

หลวงปู่มั่น 8

ภาพที่ 8 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ

หลวงปู่มั่น 9

ภาพที่ 9 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ เป็นภาพล่าสุดที่ได้พบเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตในช่วงหลังจากปี พ.ศ. 2555 ในภาพ หลวงปู่มั่น อยู่ในอริยบทนั่งบนพรมที่ปูลาดไว้และมีพนักพิง คล้ายหมอนอิง น่าสังเกตพรมที่ปูดังกล่าว อาจจะเป็นผืนเดียวกับที่ปรากฏในรูปที่ 1-3

ภาพนี้ได้รับการอนุเคราะห์ไฟล์ภาพต้นฉบับ โดย ผู้ดูแลเพจ บุญตา แอนติค

 

หลวงปู่มั่น 9

ภาพที่ 10 หลวงปู่มั่น อยู่ในอิริยาบถยืน เป็นเพียงรูปเดียวที่พบว่ามีการถ่ายภาพร่วมกับคณะศิษยานุศิษย์ ในภาพเรียงจากซ้ายไปขวา คือ (1) พระอาจารย์น้อย สุภโร (2) พระอาจารย์กู่ ธมฺมทินฺโน (3) พระอาจารย์กว่า สุมโน (4) หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต (5) พระอาจารย์บุญธรรม

ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ และเวลาที่ถ่ายภาพ ภาพนี้มีการจัดแสดงใน "พิพิธภัณฑ์บริขาร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ" วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ กราบขออภัยถ้าหากการรวบรวมข้อมูลนี้มีข้อบกพร่อง ผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ กราบขอบพระคุณ และขอขอบคุณ ทุกท่านที่ได้อนุเคราะห์ข้อมูล และภาพถ่าย และถ้าหากมีข้อมูลเพิ่มเติม ทางผู้ดูแลเว็บไซต์ฯ จะพิจารณาเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม ในโอกาสต่อไป หากท่านใดมีความคิดเห็นเพิ่มเติม สามารถนำเสนอความคิดเห็นได้ที่ สมุดเยี่ยม

กราบขอบพระคุณ

  • พระราชวิสุทธินายก เจ้าอาวาส วัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

ขอขอบคุณ

  • ศูนย์วิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผู้จัดรายการ แฟนพันธุ์แท้ 2018 โดย เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์
  • ดร.นระ คมนามูล
  • คุณภากร เก่งพล
  • ผู้ดูแลเพจ บุญตา แอนติค

รายการอ้างอิง

  • สมเด็จพระมหาวีรวงศ์, หนังสือเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ พระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) พระครูวิโรจน์ (นนฺตโร รอด) และในงานฌาปนกิจศพ พระมหารัฐ รฏฺฺฺฐปาโล กับ พระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล ที่จังหวัดอุบลราชธานี 10-16 เมษายน 2486, กรุงเเทพฯ: โรงพิมพ์มิตรไทย, 2486.
  • ท่านอาจารย์พระมหาบัว ญาณสัมปันโน, ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, กรุงเทพฯ: บริษัท ศิลป์สยามบรรจุภัณฑ์และการพิมพ์ จำกัด, 2549.
  • วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง, พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อริยสงฆ์แห่งยุคสมัย, สำนักพิมพ์สารคดี, กรุงเทพ: 2553.
  • ผู้ดูแลเว็บไซต์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺตมหาเถร, บันทึกประวัติศาสตร์ พระบูรพาจารย์, 2549, http://luangpumun.org/picdrnara/con1.htm

 

หน้าหลัก

www.luangpumun.org ติดต่อผู้ดูแลเว็บได้ที่ ar1008@hotmail.com
ขอขอบคุณ คุณกิตติวัฒน์ มโนสุทธิ ผู้ให้การสนับสนุนเ็วบไซต์