บรรยากาศภายในวัดป่ากลางโนนภู่*
ความเป็นมาของวัด
พระอาจารย์ฉลวย ( หลวงปู่ฉลวย สุธมฺโม วัดป่าวิทยาลัย อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มรณภาพแล้ว ) ได้เดินธุดงค์ไปนมัสการหลวงปู่มั่น ที่วัดป่าบ้านหนองผือ ก่อนจะเข้าไปถึงวัดปากทางคือบ้านของนายอ่อน โมราราษฎร์ อุปฐากผู้ให้ที่พักและคอยรับส่งผู้ที่จะเข้าไปยังวัดป่าบ้านหนองผือ พระอาจารย์ฉลวยได้ไปอาศัยพักเช่นกัน นายอ่อนได้กล่าวถึงสถานที่บริเวณบ้านกุดก้อมว่า ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ( จูม พนฺธุโล ) เคยกล่าวว่า ที่นั้นมีทำเลอันดีเหมาะสมที่จะสร้างวัด พระอาจารย์ฉลวยจึงขอให้นายอ่อนพาไปดู จึงพบว่าเป็นสัปปายะเหมาะแก่การภาวนาจริง จึงได้สร้างเสนาสนะขึ้นนายอ่อนก็ได้ถวายที่ดินของตนเพิ่มเติมด้วยจึงได้เป็นวัดป่าบ้านกลางโนนภู่ ในเวลาต่อมา โดยมีพระอาจารย์ฉลวยเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาท่านได้นิมนต์ พระอาจารย์กู่ ธมฺมธินฺโน มาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา

วาระสุดท้ายก่อนนิพพาน ณ ศาลาพักอาพาธ วัดป่าบ้านกลางโนนภู่
ภายหลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ แล้ว อาการป่วยขององค์หลวงปู่มั่นหนักขึ้นทุกวัน องค์ท่านทราบถึงความเป็นไปในอนาคตแล้วปรารภที่จะไปมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาสในเมืองสกลนคร จึงได้มีการจะนำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส โดยอาราธนาท่านพักบนคานหามแวะพักที่ศาลาหลังเล็กวัดป่าบ้านกลางโนนภู่ก่อนเป็นเวลา ๑๑ วัน การที่ท่านมาพักที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่นี้ก็เพื่อโปรดนายอ่อน โมราราษฎร์ผู้สร้างวัดนี้และยังเป็นโยมที่คอยช่วยเหลือองค์ท่านที่วัดป่าบ้านหนองผือตลอดระยะเวลา ๕ ปี


ภาพชุดประวัติศาสตร์ขณะอาราธนาองค์หลวงปู่มั่นขึ้นคานหามจากวัดป่าบ้านหนองผือสู่วัดป่ากลางโนนภู่
จัดแสดงอยู่บนศาลาพักอาพาธ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

จากบันทึกของหลวงตาทองคำ จารุวณฺโณผู้อุปฐากองค์หลวงปู่มั่นในช่วงอาพาธได้บันทึกเหตุการณ์ในช่วงที่ท่านมาพักอาพาธไว้ในหนังสือ " บันทึกวันวาน " ไว้ดังนี้

"... เป็นเวลา ๑๑ วันที่ท่านได้พักอยู่ วัดกลางบ้านภู่ อันเป็นวัดที่โยมอ่อน โมราราษฎ์ เป็นผู้สร้าง โยมอ่อนเป็นผู้มีศรัทธารับสิ่งของต่างๆ ที่ส่งมาจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ จันทบุรี โดยทางพัสดุไปรษณีย์บ้าง ฝากคนมาส่งบ้าง ส่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือตลอดระยะเวลา ๕ ปี ผู้เล่าคิดว่าท่านพระอาจารย์ คงจะเห็นอุปการะส่วนนี้ อันเป็นวิสัยของนักปราชญ์ จึงมาพักฉลองศรัทธาของโยมอ่อน

บรรดาพระสงฆ์ที่เป็นศิษย์ทั้งพระเถระ อนุเถระทั้งไกลทั้งใกล้ ได้มาดูแลปฏิบัติเป็นจำนวนร้อย ต่างพักหมู่บ้านใกล้เคียง มีหนองโดก ม่วงไข่ บะทอง เป็นต้น ส่วนวัดกลางบ้านภู่ไม่ต้องกล่าวถึง นอกกุฏิ ตามร่มไม้ ริมป่า ปักกลดเต็มไปหมด

ทางราชการมีท่านนายอำเภอพรรณานิคมเป็นประธาน ก็ได้ประกาศเป็นทางการให้ชาวพรรณา ฯ ทุกตำบล หมู่บ้าน ขอให้มาช่วยกันดูแล เพื่อความสะดวกสบายแก่พระสงฆ์เป็นจำนวนร้อยๆ นั้น อาหารบิณฑบาต ที่พัก น้ำปานะเพียงพอไม่มีบกพร่อง อาการเจ็บป่วยของท่านพระอาจารย์ ดูจะทรุดลงเรื่อยๆ ตัวร้อนเป็นไข้ไอจะสงบ ก็เป็นครั้งคราว พอให้ท่านได้พักบ้าง

บรรดาศิษย์ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต ได้มีการประชุมกัน มีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ ( จูม พนฺธุโล ) เป็นประธาน ความว่าจะให้ท่านมรณภาพที่นี่ หรือที่สกลนคร มติในที่ประชุมเห็นว่า ให้ท่านฯ มรณภาพที่นี่แล้วค่อยนำไปสกลฯ โดยให้พระมหาทองสุกไปจัดสถานที่คอย ที่วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร


ศาลาพักอาพาธด้านหน้า*

ทางขึ้นศาลาพักอาพาธ

แค่หามหลวงปู่มั่น*

นิทรรศการบนศาลา*

คืนวันที่ ๑๑ ที่มาพักวัดกลางบ้านภู่ เวลาตีสามเห็นจะได้ ท่านพระอาจารย์มีอาการไม่สบายมาก ท่านโบกมือขวาบอกว่าไปสกลฯ ไปสกลฯ จนอาการทุเลาลง คณะคิลานุปัฎฐาก ( ผู้ปฏิบัติภิกษุไข้ ) ก็ทำการเช็ดตัว ถวายน้ำล้างหน้า เช็ดหน้า ห่มผ้า ก็รุ่งสว่างพอดี

อาหารบิณฑบาตพระป่วยก็นำมา ผู้เล่าตักถวาย ท่านอาจารย์วันประคองข้างหลัง อาหารช้อนแรก ท่านเริ่มเคี้ยวพอกลีนได้ครึ่งหนึ่ง ก็มีอาการไอ ไอ ไอติดต่อกัน อาหารช้อนแรกยังไม่ได้กลีนก็ต้องคายออก

ตักถวายช้อนที่สอง ท่าน ยังไม่ได้เคี้ยวเกิด ไอ ไอ ไอใหญ่ ท่านคายลงกระโดนแล้วบอกว่า
" เรากินมา ๘๐ ปีแล้ว กินมาพอแล้ว "
ผู้เล่าถวายน้ำอุ่นให้ดื่มเพื่อระงับอาการไอ
ท่านบอกว่า " เอากับข้าวออกไป "

ผู้เล่าอ้อนวอนท่าน อีก " เอาอีกแล้ว ทองคำนี้ พูดไม่รู้จักภาษา บอกว่า เอาออกไป มันพอแล้ว " ก็จำใจนำออกไป

พอท่านบ้วนปากเสร็จ จึงเข้าไปประคองแทนท่านอาจารย์วัน ท่านบอกว่า " พลิกเราไปด้านนั้นทางหน้าต่างด้านใต้ " แล้วบอกว่า " เปิดหน้าต่างออก "

ผู้เล่ากราบเรียนว่า " อากาศยังหนาวอยู่ สายๆ จึงค่อยเปิด "

"เอาอีกแล้ว ทองคำนี้ไม่รู้ภาษาจริงๆ บอกว่าให้เปิดออก หูจาวหรือจึงไม่ได้ยิน"

พอเปิดหน้าต่างออกไป อะไรได้คนเต็มไปหมดทั้งบริเวณ ประมาณได้เป็นร้อยๆ คน ทุกคนที่มาจะเงียบหมดไม่มีเสียงให้ปรากฏ ถ้าเราอยู่ที่ลับตาจะไม่รู้ว่ามีคนมาทุกคนก้มกราบประนมมือ

ท่านพระอาจารย์กล่าวว่า

"พวกญาติโยมพากันมามาก มาดูพระเฒ่าป่วยดูหน้าตาสิ เป็นอย่างนี้ละญาติโยมเอ๋ย ไม่ว่าพระไม่ว่าคน พระก็มาจากคน มีเนื้อมีหนังเหมือนกัน คนก็เจ็บป่วยได้ พระก็เจ็บป่วยได้ สุดท้ายก็คือ ตาย ได้มาเห็นอย่างนี้แล้วก็จงพากันนำไปพิจารณา เกิดมาแล้ว ก็แก่ เจ็บ ตาย แต่ก่อนจะตาย ทานยังไม่มีก็ให้มีเสีย ศีลยังไม่เคยรักษาก็รักษาเสีย ภาวนายังไม่เคยเจริญ ก็เจริญให้พอเสีย จะได้ไม่เสียทีที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา ด้วยความไม่ประมาท นั้นละจึงจะสมกับที่ได้เกิดมาเป็นคน เท่านี้ละ พูดมากก็เหนื่อย" นี้คือ โอวาทที่ท่านฯ ให้ไว้แก่ชาวพรรณานิคมตั้งแต่นั้นจนวาระสุดท้ายท่านไม่ได้พูดอักเลย ..."

ภายหลังญาติโยมทางวัดป่าสุทธาวาสได้จัดรถมารับองค์ท่านและมรณภาพที่วัดป่าสุทธาวาสในคืนวันนั้นเอง


ทางเข้าวัดป่ากลางโนนภู่

พระประธานในวิหาร*

เจดีย์ที่เก็บอัฐิพระอาจารย์กู่ ( ซ้าย ) พระอาจารย์กว่า ( ขวา )

กุฏิพระอาจารย์กว่า สุมโน อดีตเจ้าอาวาส

สภาพในปัจจุบัน
วัดป่าบ้านกลางโนนภู่ในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ศาลาที่พักอาพาธนี้ไว้ และยังได้จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงบริขารยามอาพาธโดยมีหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโนได้เมตตามาเปิดและรับผ้าป่าช่วยชาติ บริขารยามอาพาธอันได้แก่อันได้แก่ แคร่ มุ้ง อันเป็นส่วนประกอบของคานหามที่ได้ใช้อาราธนาองค์ท่านมาจากวัดป่าบ้านหนองผือ มาที่วัดป่าบ้านกลางโนนภู่แห่งนี้ นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชีวประวัติหลวงปู่มั่น ภาพถ่ายต่างๆ และพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ และของอดีตเจ้าอาวาส คือ พระอาจารย์กู่ ธมฺธินโน กับ พระอาจารย์กว่า สุมโน เสนาสนะที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ อนุสรณ์สถานที่เจดีย์บรรจุอัฐิพระอาจารย์กู่ ธมฺธินโน กับ พระอาจารย์กว่า สุมโน กุฏิที่พระอาจารย์กว่าสุมโนเคยจำพรรษา


พระอาจารย์ฉลวย สุธมฺโม

พระอาจารย์กู่ ธมฺมธินฺโน

พระอาจารย์กว่า สุมโน
สามพระอาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดป่ากลางโนนภู่

ส่วนสภาพในวัดปัจจุบันยังคงความร่มรื่นร่มเย็น สมกับเป็นสถานที่ที่องค์หลวงปู่มั่นเลือกจะมาพักอาพาธ ณ สถานที่นี่

ปัจจุบันมีพระอาจารย์ประจักษ์ ขนฺติโก เป็นเจ้าอาวาส

< หน้าก่อน   หน้าต่อไป >
http://www.luangpumun.org