รูปหล่อหลวงปู่มั่น บนกุฏิ
ความเกี่ยวเนื่องกับองค์หลวงปู่มั่น
ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระได้จากเสนาสนะป่าบ้านโคกมาพำนัก ณ บ้านนามน ในปัจจุบันคือ วัดป่านาคนิมิตต์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์เนียมสหธรรมมิกของพระอาจารย์กงมา ( ประวัติสังเขปของพระอาจารย์เนียม คลิ๊ก ) อยู่ห่างจากบ้านโคกประมาณ ๔ กิโลเมตร สถานนี้เป็นป่าธรรมชาติ มีพรรณไม้ต่างๆ เช่น ไม้ยาง ไม้ตะเคียน ไม้เต็ง ไม้รัง และไม้อื่นๆ แม้จะอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านแต่ก็เป็นป่ารกชัฏเหมาะแก่การทำความเพียร

ในปีนี้ได้มีการประชุมพระคณาจารย์กันโดยมิได้นัดหมายมิได้มีการอาราธนาหรือบอกกล่าวแต่อย่างใด ได้แก่ หลวงปู่เทสก์ เทสรงฺสี, หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร, พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ, พระอาจารย์ทองสุข สุจิตฺโต, หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรินฺธโร เป็นต้น ท่านทั้งหลายนั้นได้มาสู่สถานที่นี้ โดยมีหลวงปู่มั่นเป็นจุดมุ่งหมาย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นการประชุมที่อัศจรรย์ เนื่องจากพระคณาจารย์เหล่านี้ไม่ต้องมีพิธีการต้อนรับหรือต้องเกรงใจ หรือต้องทำระเบียบการประชุมเรื่องของบประมาณค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

กุฏิหลวงปู่มั่น ณ วัดป่านาคนิมิตต์

ในการมาของคณาจารย์เหล่านี้ล้วนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ และผู้น้อยติดตามจึงเป็นเหตุให้การประชุมรวมตัวของคณะสงฆ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างล้นเหลือ โดยหลวงปู่มั่นได้วางนโยบายสำคัญๆ ทั้งทางด้านปกครอง และด้านการปฏิบัติกรรมฐาน

ความเป็นมาของวัด

ความเป็นมาของวัดแห่งนี้จากบทสัมภาษณ์ พระอาจารย์อว้าน เขมโกจากหนังสือบูรพาจารย์พอสรุปได้ว่า เดิมวัดแห่งนี้หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ได้รุกขมูลผ่านมาก่อน ต่อมาหลวงปู่มั่น ได้รุกขมูลมาตามเส้นทางของหลวงปู่เสาร์และแวะพักที่นี่ หลวงปู่มั่นเห็นว่าสถานที่นี้สัปปายะ ท่านจึงปรารภกับญาติโยมว่า "คิดจะสร้างเป็นวัด" จึงได้มีการยกที่ดินถวายท่าน และสร้างเสนาสนะแบบชั่วคราวพอได้อยู่อาศัย แล้วท่านจึงเดินธุดงค์ต่อไปทางภาคเหนือ ๑๒ ปี หลังจากนั้นท่านจึงมาจำพรรษาที่นี่เป็นครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ.๒๔๘๖ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในครั้งนี้ชาวบ้านนามนได้สร้างกุฏิถวายองค์ท่าน รุ่งเช้าของวันที่ได้เริ่มต้นก่อสร้างปรากฏ หลวงปู่มั่นได้ชี้บอกโยมว่า "นั่นแหละ พญานาคทำรอยไว้ให้แล้ว" ชาวบ้านไปดูเป็นรอยกลมๆ จึงนำรอยนั้นเป็นหมายในการขุดหลุมตั้งเสากุฏิ ต่อมาเมื่อจะสร้างศาลาก็ปรากฏรอยนี้อีกจึงได้ลงเสาศาลาในลอยนั้นเช่นกัน ท่านจึงพูดกับโยมว่า "วัดนี้ชื่อว่าวัดป่านาคนิมิตต์" แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดป่าบ้านนามนตามชื่อหมู่บ้านนั้น ต่อมาเมื่อได้จดทะเบียนชื่อวัด จึงได้ใช้มงคลนามที่หลวงปู่มอบให้นี้เป็นชื่อวัด

สถานที่นี้ยังเป็นที่กำเนิดบันทึกพระธรรมเทศนาที่สำคัญของหลวงปู่มั่น คือ " มุตโตทัย " ที่บันทึกครั้งแรก ณ วัดนี้ โดยพระอาจารย์วิริยังค์ ได้เล่าถึงความเป็นมาไว้ในบันทึกใต้สามัญสำนึก ประวัติของท่านดังนี้

" ... เพราะได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระอาจารย์มั่นฯ แล้วไพเราะจริงๆ ทำให้ผู้เขียนนั่งกัมมัฏฐานได้รับความสงบใจตามที่ได้มาฟังธรรมของท่าน ซึ่งธรรมเทศนานั้นได้เกิดรสชาติที่ซาบซึ้งหาอะไรเปรียบไม่ได้อีกแล้ว ผู้เขียน ( พระอาจารย์วิริยังค์ ) คิดในใจว่า ทำไมจึงดีอย่างนี้ มันสุดแสนจะพรรณา ทำให้ผู้เขียนระลึกถึงคนอื่นๆ ต่อไปว่า เราจำเป็นที่จะต้องบันทึกธรรมเทศนาของท่านอาจารย์มั่นฯ ให้ได้ เพราะถ้าเราไม่บันทึก ต่อไปธรรมเทศนาอันวิเศษนี้ก็จะหายสูญไปอย่างน่าเสียดาย และธรรมเทศนาเช่นนี้จะพึงแสดงได้ก็แต่ท่านพระอาจารย์มั่นฯ เท่านั้น รูปอื้นถึงแสดงก็ไม่เหมือน จึงทำให้ผู้เขียนได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเขียนบันทึกธรรมเทศนาของท่านให้ได้และก็เป็นผลสำเร็จขึ้นเป็นอันดับแรก เพราะยังไม่เคยมีใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านเลย


กุฏิพระอาจารย์วิริยังค์
จำพรรษาและบันทึก "มุตโตทัย"
เป็นที่น่าสังเกต ท่านพระอาจารย์มั่นฯ ท่านไม่เคยยอมให้ใครบันทึกธรรมเทศนาของท่านโดยเป็นหนังสือเลย มีแต่จำกันใส่ใจเท่านั้น ถ้าใครจะบันทึกด้วยหนังสือจะต้องถูกท่านดุและประนาฌเอาทีเดียว แต่ผู่เขียนได้ขโมยเขียนและยอมทุกสิ่งทุกอย่างเพราะรักและชอบและเลื่อมใสสุดหัวใจแล้ว ท่านจะดุด่าประฌามผู้เขียนยอมทุกอย่าง ขออย่างเดียวให้ได้บันทึกธรรมเทศนาเพื่อประโยชน์แก่คนอื่นต่อไปภายหลังที่ไม่ได้ฟังจากท่าน แต่ได้อ่านในหนังสือเล่มนี้ ส่วนพระภิกษุสามเณรที่ไปอยู่กับท่านต่างก็กลัวเช่นนี้ จึงไม่มีใครกล้าจะเขียนธรรมเทศนาของท่าน จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้กล้าเสี่ยงอันตรายครั้งงสำคัญทีเดียวในการบันทึกธรรมเทศนา เรื่องนี้เกิดความสำเร็จแก่ผู้เขียนอย่างเต็มภาคภูมิ คือตลอดพรรษานี้ ผู้เขียนได้บันทึกเทศนาตลอดไตรมาส ซึ่งก็สำเร็จขึ้นเป็นเล่มในชื่อ " หนังสือ มุตโตทัย "

หลังจากผู้เขียนได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านแล้ว ก็พยายามทำเป็นความลับไว้ตลอดเวลา วิธีการที่ผู้เขียนทำสำเร็จนั้นคือ เมื่อเวลาท่านแสดงธรรม พยายามกำหนดไว้ในใจอย่างมั่นคง เพราะขณะนั้นความจำของผู้เขียนยังอยู่ในการใช้ได้ เมื่อท่านแสดงธรรมจบแล้วผู้เขียนยังต้องมีหน้าที่ถวายการนวดอีกไม่ต่ำกว่า ๒ ชั่วโมง เมื่อถวายการนวดเสร็จแล้ว ก็รีบกลับที่พักจับปากการีบเขียนธรรมเทศนาของท่าน ก่อนความจำนั้นจะเลื่อนลางไป ตอนนี้ผู้เขียนจะบอกอะไรสักอย่าง ว่าเป็นเรื่องที่น่าคิดหนักหนา ตอนนั้นอยู่ในระหว่างสงคราม ปากกา - ดินสอ - น้ำหมึกไม่ต้องหา ไม่มีใช้ เผอิญผู้เขียนมีปากกาอยู่ ๑ ด้ามติดตัวไป น้ำหมึกไม่มี ผู้เขียนต้องคิดตำราทำน้ำหมึกใช้โดยเอาผลสมอไทย ผลมะเหลื่อม ผลมะขามป้อม เอามาจำแช่น้ำ แล้วเอาเหล็กที่มีสนิมมากเช่นผาลไถนาแช่ลงไปด้วย เมื่อแช่ ๒ - ๓ วันได้ที่แล้ว เอามากรองด้วยผ้าบางจนใสแล้วก็เอาเขม่าติดก้นหม้อสีดำใส่เข้าไปคนจนเข้ากันดีแล้วกรองอีก คราวนี้ก็เอามาใช้ได้ผล ข้าพเจ้าได้ใช้มันจนเขียนได้เป็นเล่ม แต่เวลาเขียนมันจะไม่แห้งทันที ต้องรอนานกว่าจะแห้ง


กุฏิพระอาจารย์วิริยังค์

ศาลาใหญ่

บรรยากาศภายในวัด

ประตูทางเข้าวัด

ข้าพเจ้าได้ทำอยู่อย่างนี้ คือฟังเทศน์เสร็จแล้วถวายการนวด เสร็จแล้วกลับมาเขียนหนังสือตลอดเวลา ๓ เดือน การแสดงธรรมของท่านมิได้แสดงทุกๆ คืน ในที่สุดข้าพเจ้าทำงานเสร็จ สมกับคำปณิธานที่ได้ตั้งไว้ แล้วก็พยายามทำความลับไว้มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบถึงการกระทำของข้าพเจ้าเลยแม้แต่คนเดียว

เมื่อความสนิทสนมผู้เขียนกับท่านอาจารย์มั่นฯ นับวันแต่จะสนิทยิ่งขึ้นท่านได้ให้พรพิเศษ เมตตาพิเศษ แนะนำพิเศษ จนผู้เขียนหายความหวาดกลัวเหมือนอย่างแต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่งผู้เขียนคิดว่า ก็ธรรมเทศนาที่เราเขียนแล้วนั้นจะปิดเป็นความลับไว้ทำไม เปิดเผยถวายท่านเสียดีกว่า ท่านจะกินเลือดกินเนื้อเราก็ให้รู้ไป จึงเป็นอันว่าผู้เขียนได้นำเอาเนื้อความอ่านเล่าถวาย ท่านจึงเอะใจขึ้นว่า "นี่วิริยังค์คุณไปเขียนแต่เมื่อไร" จากนั้นท่านก็ไม่ว่าอะไร และท่านก็ยอมรับว่า การบันทึกนี้ถูกต้อง โล่งอกโล่งใจข้าพเจ้าเป็นอย่างยิ่ง นึกว่ายังไงเสียคงโดนด่าหลายกระบุงแต่ท่านกลับให้ความร่วมมือเป็นอย่างน่าอัศจรรย์ ..."


หลวงปู่อว้าน เขมโก
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

สภาพในปัจจุบัน
วัดป่านาคนิมิตต์ในปัจจุบันมีพระอาจารย์อว้าน เขมโกเป็นเจ้าอาวาส ปัจจุบันยังมีเสนาสนะเก่าแก่ที่ยังอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี ได้แก่ กุฏิหลวงปู่มั่นที่ยังอยู่ในสภาพดี และกุฏิพระอาจารย์วิริยังค์ที่ท่านใช้จำพรรษาและบันทึกธรรมะ "มุตโตทัย" ที่อยู่ลึกเข้าไปก็อยู่ในสภาพดีเช่นกัน สภาพวัดทั่วไปยังคงความสงบร่มเย็นเป็นสัปปายะสถานที่เกี่ยวเนื่องกับองค์หลวงปู่มั่น ที่ยังรักษาสภาพแวดล้อมและข้อวัตรปฏิบัติได้เป็นอย่างเข้มแข็ง
< หน้าก่อน   หน้าต่อไป >
http://www.luangpumun.org