๒๕ เมษายน ๒๕๔๔
หน้าที่ ๑

เช้าวันที่สอง วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พวกเราวางแผนไว้ว่าวันนี้จะไป วัดดอยธรรมเจดีย์ วัดป่านาคนิมิต วัดป่าวิสุทธิธรรม และวัดป่าสุทธาวาส 4 วัด ในวันเดียวเนื่องมาจากเป็นวัดที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน แต่ห่างจากวัดป่าบ้านหนองผือ ประมาณ 60 กว่ากิโลเมตร ออกจากที่พักประมาณ 9.00 น. ใช้เส้นทางที่มุ่งหน้าเข้าสู่ตัวเมืองสกลนคร ผ่านภูพาน แล้วเลี้ยวขวาเข้าทาง อ.โคกศรีสุพรรณ จะผ่านเส้นทางเข้าไปสู่วัดป่าวิสุทธิธรรมก่อน แต่พวกเราเข้าไปวัดดอยธรรมเจดีย์ซึ่งอยู่ทางขวาของถนน มีป้ายบอกชัดเจน เป็นเส้นทางเดียวกับที่ไปบ้านนาสีนวล เข้าซอยไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ก็จะถึงประตูเข้าวัด ลักษณะวัดตั้งอยู่บนภูเขาที่เป็นส่วนหนึ่งของเขาภูพานที่เป็นหินทราย บริเวณกว้างขวางสงบร่มรื่นมาก

วัดดอยธรรมเจดีย์


พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร
พระอาจารย์แบน ธนากโร
เจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย

ตามประวัติคือท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญท่านได้มาสร้างวัดนี้หลังจากที่สร้างวัดป่าวิสุทธิธรรมหลังจากหลวงปู่มั่นได้ย้ายสถานที่จำพรรษา จากวัดป่าวิสุทธิธรรม ไปที่วัดป่าบ้านหนองผือ ปัจจุบันมีท่านเจ้าคุณพระภาวนาวิสุทธิญาณเถร หรือท่านพระอาจารย์แบน ธนากโร เป็นเจ้าอาวาส ถึงแม้ว่าตามประวัติหลวงปู่มั่นจะไม่ปรากฏว่าหลวงปู่มั่นเคยมาแวะปฏิบัติธรรมที่นี่ แต่ท่านพระอาจารย์พยุงได้ให้ความเห็นว่าหลวงปู่ท่านน่าจะเคยแวะมาพักที่นี่เพราะแถบนี้ก็มีวัดป่าที่ท่านมาแวะพักเป็นประจำหลายวัด ท่านจึงน่าจะได้เคยพักที่นี่ แต่อาจเป็นระยะเวลาไม่นานจึงไม่ได้มีการบันทึกไว้

พวกเราไปกราบพระที่ศาลา พบพระอาจารย์ท่านหนึ่งท่านได้เตือนข้าพเจ้าว่าเข้าวัดให้ถอดหมวก เป็นการลืมนึกถึงมารยาทในการเข้าวัดของข้าพเจ้าเอง ท่านได้ซักถามว่ามาวัดนี้มีจุดประสงค์ใด ข้าพเจ้าได้กราบเรียนองค์ท่านไปว่าจะมาสืบหาประวัติหลวงปู่มั่นในถิ่นนี้ องค์ท่านได้เมตตาแนะนำว่าการศึกษาประวัติหลวงปู่ที่ดีที่สุดคือการภาวนาตามคำสอนของท่าน และการปฏิบัติธรรมก็อย่าพกกล้องมาด้วยจะเป็นภาระในการภาวนาเปล่าๆ ซึ่งผมก็ได้น้อมนำไปปฏิบัติต่อไป


ประตูทางเข้าวัด

ศาลากลางน้ำ

พระไตรโลกนาถ

ทิวทัศน์บนยอดเขา

กุฏิหลวงตามหาบัว

ทางเดินจงกรมหลวงตามหาบัว

พวกเราได้เดินชมวัดซึ่งเป็นเส้นทางเดินขึ้นเขาที่ไม่สูงนัก ทั้งสองข้างทางจะเป็นต้นไม้ใหญ่ๆ อุดมสมบูรณ์มาก มีกล้วยไม้เกาะตามต้นไม้ใหญ่ๆ ออกดอกสวยงาม มีกุฏิไม้หลังเล็กๆ กลมกลืนกับธรรมชาติหลายหลัง กระแตในวัดก็มีจำนวนมากและเชื่องด้วย ระหว่างทางจะมีป้ายติดบอกว่าเป็นเขตสงฆ์ที่มีพระกำลังภาวนา ให้อยู่ในความสงบดังนั้นสถานที่แห่งนี้จึงไม่เหมาะสมนักที่จะมาเที่ยวเล่นตามอำเภอใจที่จะทำลายความสงบของวัดได้ พวกเราจึงต้องสำรวมระวังมากที่สุด เมื่อเดินไปถึงยอดเขาซึ่งประดิษฐาน "พระไตรโลกนาถ" คือ พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ และพระปางป่าเลไลย์ซึ่งบันทึกไว้ว่าท่านพระอาจารย์แบนและนายวัน คมนามูล อุบาสกท่านสำคัญที่อุปฐากคณะพระกรรมฐานเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2502 ใกล้ๆ กันนั้นคือ กุฏิและทางเดินจงกรมที่หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนได้เคยพักบำเพ็ญเพียรที่นี่ ณ บริเวณนี้มีทัศนียภาพที่สวยงามมาก มองไปเห็นตัวเมืองสกลนครได้ พวกเราชอบใจสถานที่ตรงนี้มากจึงได้แวะนั่งสมาธิกันที่นี่สักพัก แล้วจึงเดินลัดไปที่เจดีย์ของวัดดอยธรรมเจดีย์ ได้เข้าไปกราบที่ชั้นล่างของเจดีย์ซึ่งประดิษฐาน พระพุทธบาทจำลอง ปฏิมากรรมหินแกะสลักขนาดเท่าองค์จริงรูปหลวงปู่มั่นกับท่านพระอาจารย์กงมา และรูปวาดท่านพระอาจารย์แบน ส่วนชั้น 2 และ 3 นั้นปิดมิได้ขึ้นไป แล้วจึงออกจากวัดเวลา 11.00 น.


เจดีย์

ศาลาในเขตปฏิบัติธรรมสำหรับฆราวาส

วัดป่านาคนิมิตต์ บ้านนามน

พวกเราออกจากซอยเข้าวัดดอยธรรมเจดีย์สู่ถนนใหญ่ เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางไป อ.นาแก มุ่งหน้าสู่วัดป่านาคนิมิตต์ อีกประมาณ 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือมีป้ายบอกทางเข้าวัดชัดเจนเช่นกัน ลักษณะพื้นที่วัดเป็นพื้นราบมีป่าไม้ขึ้นปกคลุมร่มเย็นมาก ใกล้ๆ ประตูทางเข้าวัด คือ กุฏิหลวงปู่มั่นที่ท่านเคยจำพรรษาในปี พ.ศ. 2485 ( บางแห่งกล่าวไว้ว่าเป็นปี พ.ศ. 2486 ข้าพเจ้าเมื่อได้อ่านบันทึกของหลวงปู่วิริยังค์แล้วอาจเป็นไปได้ว่า องค์ท่านมาพักที่นี่เป็นครั้งคราว ) เลยเข้าไปทางขวาเป็นทางเดินเข้าไปสู่กุฏิหลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร ท่านมาจำพรรษาที่นี่เพื่ออุปฐากหลวงปู่มั่นและท่านใช้กุฏินี้บันทึกธรรมะสำคัญ "มุตโตทัย" สำเร็จ ณ กุฏิหลังนี้เอง


กุฏิหลวงปู่มั่น

ภายในกุฏิ

กุฏิหลวงปู่วิริยังค์

ภายในวัด

ความเป็นมาของชื่อวัดป่านาคนิมิตต์กล่าวว่า บ้านนามนนี้เป็นบ้านเกิดของท่านพระอาจารย์เนียม ตามบันทึกของหลวงปู่วิริยังค์ ในหนังสือ "ชีวิตคือการต่อสู้" ในหน้า 164 - 165 ได้กล่าวถึงเมื่อครั้งที่ท่านจำพรรษากับพระอาจารย์เนียม ณ วัดป่านาคนิมิตต์ และได้กล่าวถึงประวัติท่านพระอาจารย์เนียมดังนี้

ประวัติท่านพระอาจารย์เนียม

" ท่านอาจารย์เนียมได้อุปสมบทหลังจากมีภรรยาแล้ว มีความเบื่อหน่ายฆราวาส ท่านมิได้เรียนหนังสือมาก่อนเลย หมายความว่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เลย แต่ว่าเมื่อท่านบวชแล้วท่านได้ติดตามพระอาจารย์มั่นฯ ได้เรียนกัมมัฏฐานกับท่าน แล้วก็พยายามปฏิบัติอย่างอุกฤษฎ์ทีเดียว ทั้งในใจในการไต่ถามปฏิบัติจนได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ … เมื่อ พ.ศ. 2475 พระอาจารย์เนียม ก็ได้ธุดงค์ลงไปถึงจังหวัดนครราชสีมาพร้อมกับพระอาจารย์อีกหลายองค์ มีพระอาจารย์สิงห์ เป็นหัวหน้า มีคนสำคัญอยู่คนหนึ่งคือหลวงชาญ ได้ไปฟังเทศน์จากพระอาจารย์เนียม เกิดความเลื่อมใสในคณะกรรมฐานอย่างยิ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า ท่านอาจารย์เนียมท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านนำธรรมมาแสดงแด่หลวงชาญได้อย่างไร นี้ก็น่าคิด แต่ผู้ที่ได้ปฏิบัติธรรมจนเกิดธรรมภายในได้แล้ว ก็เห็นเป็นของธรรมดา ปรากฏต่อมาว่า หลวงชาญเกิดความเลื่อมใส ถวายที่ของตนให้สร้างวัด จนปรากฏชื่อ วัดป่าสาลวัน จนกระทั้งเดี๋ยวนี้

ขณะที่ท่านอยู่กับพระอาจารย์มั่นฯ ได้ใช้ให้เป็นผู้คอยแก้พระภิกษุสามเณรที่หลงวิปัสสนูปกิเลส เพราะบางองค์ที่บำเพ็ญความเพียรอย่างหนักเกิดความเข้าใจผิด หลงตัวว่าได้สำเร็จพระอรหันต์ ทั้งๆ ที่ไม่ได้สำเร็จเพราะอำนาจของวิปัสสนูฯ ทำให้เข้าใจไปเช่นนั้น เนื่องจากเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากขณะที่เกิดวิปัสสนูปกิเลสนั้น มีทั้งความผ่องใส ลึกซึ้งยังกับหมดกิเลสซึ่งแต่ละรูปที่หลงนั้นย่อมมั่นหมายในตัวเองมาก ยากที่จะแก้ไขได้ หากไม่มีวิธีแก้ จะติดไปนานมากทีเดียว

การเป็นเช่นนี้เกิดขึ้นแก่รูปใด พระอาจารย์เนียมเป็นผู้หนึ่งที่จะต้องถูกพระอาจารย์มั่นฯ ใช้ให้ไปแก้ไขเพื่อให้ท่านเหล่านั้นกลับใจ ดำเนินไปตามทางที่ถูก การแก้ผู้หลงวิปัสสนูปกิเลสนี้ มิใช่ง่ายเลย เพราะความเข้าใจผิดของผู้เป็นนั้นลึกซึ้งมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่จะไปแก้เขานั้นจะต้องมีกำลังจิตมากทีเดียว หากแต่จะใช้เพียงวาทะถ้อยคำ ก็ยากนักที่จะแก้ได้ พระอาจารย์เนียมจึงเป็นผู้หนึ่งที่มีพลังจิตที่พอจะแก้ไขได้ จึงนับว่าท่านเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่นฯ รูปหนึ่งซึ่งใครๆ ไม่เคยกล่าวขวัญถึงเลย แต่กับผู้เขียน ( หลวงปู่วิริยังค์ ) สนิทสนมกันมาก

พระอาจารย์เนียมได้มรณภาพที่บ้านหนองผือ ต.นาใน อ.พรรณานิคม ที่ท่านพระอาจารย์มั่นจำพรรษาอยู่ 5 ปีนั้นเอง ท่านป่วยด้วยไข้มาเลเรีย หลังจากท่านมรณภาพแล้ว ท่านอาจารย์ก่อเชิงตะกอนด้วยท่อนไม้ทำฌาปนกิจศพแก่พระภิกษุ สามเณรที่มรณภาพกับท่านเช่นนี้โดยปรกติเพราะได้เคยพูดไว้เสมอว่าซากอสุภะ ร่างกายที่ตายนั้น ควรแก่การที่จะพึงพิจารณาให้เป็นสักขีพยานในการปลงธรรมสังเวชเท่านั้น ส่วนการบำเพ็ญกุศลที่จะพึงอุทิศผลใปให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีร่างกายที่สิ้นลมแล้วจะมาเป็นผู้คอยรับส่วนกุศล … จะอย่างไรก็ตามผู้เขียน ( หลวงปู่วิริยังค์ ) ก็ได้ถือว่าท่านพระอาจารย์เนียมเป็นพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิสูงผู้หนึ่ง "

ซึ่งพิธีศพของท่านพระอาจารย์เนียมได้มีการบันทึกไว้อย่างละเอียดในหนังสือบูรพาจารย์แล้วในหัวข้อ " เรื่องศพที่ท่านพระอาจารย์มั่นพาปฏิบัติ " นอกจากนี้จากบันทึกของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ในหนังสือประวัติของท่านเองยังได้บันทึกถึงคุณธรรมของท่านพระอาจารย์เนียม ที่หลวงปู่มั่นได้กล่าวไว้ว่า " ท่านเนียมเป็นพระโสดาบันแล้วไปเกิดชั้นหกอาภัสรา "

ส่วนชื่อวัดป่านาคนิมิตต์นั้นเป็น เป็นชื่อที่หลวงปู่มั่นท่านได้มอบให้เนื่องมาจากตอนที่ชาวบ้านก่อนจะลงเสาเพื่อสร้างศาลาวัดและกุฏิหลวงปู่มั่นนั้นได้พบว่า มีหลุมสำหรับตั้งเสาถูกขุดไว้ให้แล้วโดยไม่ทราบว่าใครมาขุด ซึ่งหลวงปู่มั่นได้กล่าวว่าเป็นรูพญานาคมาทำรอยเอาไว้ องค์ท่านจึงได้ตั้งชื่อวัดนี้ไว้เป็นที่รำลึกถึงพญานาคเหล่านั้น

เมื่อเมื่อเดินชมวัดเสร็จก็ได้เข้าไปกราบหลวงปู่อว้าน เขมโก เจ้าอาวาส ซึ่งท่านกำลังอาพาธด้วยอุบัติเหตุตกบันไดหัวเข่าของท่านแตก ซึ่งช่วงที่พวกเราไปกราบท่านได้ทราบว่าท่านพอเดินบิณฑบาตได้แล้ว แต่ก็ยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ องค์ท่านได้เมตตาเล่าถึงการสอนของหลวงปู่มั่น เรื่องแมวฟังเทศน์หลวงปู่มั่นทุกคืนๆ สมัยตอนที่หลวงปู่อว้านยังเด็กได้เข้าไปกราบหลวงปู่มั่นที่วัดป่าบ้านหนองผือ และเรื่องความมหัศจรรย์ในการหยั่งรู้ของหลวงตามหาบัว พอจับใจความมาเล่าได้ดังนี้

" …ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 ตอนนั้นท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าบ้านห้วยทราย หลวงตามหาบัวท่านทราบแล้วว่ามีผู้จะทำลายพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว คนมีปัญญาเท่านั้นที่สามารถรู้ทันได้ คนไม่มีปัญญาก็ตกไปเครื่องมือของเขาต่อไป … " อันนี้ก็คงต้องให้ท่านทั้งหลายพิจารณาดูกันนะครับ นอกจากนี้ท่านก็ยังส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ปฏิปทาที่บริสุทธิ์ของหลวงปู่มั่นให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้นด้วย

< หน้าก่อน  หน้าต่อไป >

www.luangpumun.org